เรามาทำความรู้จัก...ครอบฟัน...กันเถอะ
ครอบฟันบนฟันธรรมชาตินั้น มีข้อบ่งชี้อยู่หลายกรณีด้วยกัน เช่น การสูญเสียเนื้อฟันไปเป็นจำนวนมากจากฟันผุ ซึ่งไม่สามารถที่จะบูรณะด้วยการอุดฟันแบบธรรมดาได้, การเกิดรอยร้าวในซี่ฟัน ฟันแตกแบบไม่ทะลุโพรงประสาทฟัน ฟันที่ผ่านการรักษารากฟันมาเป็นระยะเวลานานและมีการเปลี่ยนสีของซี่ฟัน หรือ ฟันที่ได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ เป็นต้น ทั้งนี้ฟันที่ผ่านการรักษารากฟันมาแล้วอาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาใส่เดือยฟันร่วมด้วยเพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงให้แกนฟันก่อนที่จะครอบฟันในขั้นตอนต่อมา
ขั้นตอนการทำครอบฟันบนฟันธรรมชาตินั้นจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ครั้ง ขั้นตอนประกอบไปด้วย การเตรียมแบบจำลองฟันก่อนเริ่มการรักษา ใส่เดือยฟันหากมีข้อบ่งชี้ภายหลังการรักษารากฟัน การกรอเนื้อฟันโดยรอบซี่ฟัน ทำการพิมพ์ปากหลังกรอเตรียมฟันเสร็จ ทำครอบฟันชั่วคราว และสุดท้ายเปลี่ยนครอบฟันชั่วคราวมาเป็นครอบฟันตัวจริง
วัสดุที่นำมาใช้ทำครอบฟัน หลักๆ จะมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน อันได้แก่ ครอบฟันที่ทำมาจากโลหะผู้ป่วยจะเห็นเป็นสีเงิน หรือ ทอง, ครอบฟันที่ใช้โลหะเป็นโครงด้านในตัวครอบฟัน แล้วเติมเซรามิคไว้ด้านนอก แบบสุดท้ายคือครอบฟันเซรามิคทั้งซี่ซึ่งจะเป็นสีเหมือนฟันธรรมชาติทั้งซี่ การเลือกวัสดุที่จะนำมาใช้ครอบฟันแต่ละซี่ และตำแหน่งนั้นมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อันได้แก่ พื้นที่ที่ใช้ในการบูรณะครอบฟัน ความสวยงาม พฤติกรรมการนอนกัดฟัน เป็นต้น
ทั้งนี้ปัญหาที่พบได้ภายหลังการบูรณะครอบฟันบนฟันธรรมชาติไปแล้วคือการเกิดฟันผุใต้ต่อครอบฟัน ดังนั้นการดูแลรักษาความสะอาดครอบฟันบนฟันธรรมชาตินั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากฟันธรรมชาติแต่อย่างใด ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ โดยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เช้า และก่อนนอน ร่วมด้วยกันการใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ปัญหาอีกประการที่พบได้หลังใช้ครอบฟันมาระยะเวลานาน ก็คือครอบฟันหลุด หรือ หลวม ซึ่งการนำมาซึ่งอาการดังกล่าวอาจมาจากหลากหลายสาเหตุ ผู้ป่วยไม่ควรพยายามยึดครอบฟันกลับไปด้วยตนเอง หรือปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจจะทำให้ครอบฟันหลุดลงคอ และปิดกั้นทางเดินหายใจได้ หากมีชิ้นส่วนใดใดที่หลุดออกมาจากช่องปากหรือฟัน ผู้ป่วยควรเก็บชิ้นส่วนดังกล่าวไว้และเข้ารับได้รับคำแนะนำจากทันตแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
เรียบเรียงบทความโดย:
อ.ทพ.พีรพัฒน์ กวีวงศ์ประเสริฐ
สาราณียกร และกรรมการสมาคมทันตกรรมประดิษฐ์ไทย
ภาพประกอบบทความ โดย ทพญ.พิชญา สุวรรณวลัยกร และ ทพญ.ภัณฑิรา สุวรรณวลัยกร