ฟันปลอมชนิดนี้จะใช้ในการใส่ฟันทดแทนที่หายไปในช่องปากเฉพาะบางซี่ หรือบางตำแหน่ง โดยจะมีตะขอที่ใช้ในการช่วยเพิ่มแรงในการยึดเกาะจากฟันธรรมชาติซี่ข้างเคียง วัสดุซี่ฟันปลอมทำมาจากพลาสติก หรือ เซรามิค ส่วนวัสดุฐานฟันปลอมเองทำมาจากพลาสติกเป็นองค์ประกอบหลัก ข้อดีของฟันปลอมประเภทนี้คือสามารถทำเป็นฟันปลอมชั่วคราวระหว่างรอแผลถอนฟันหาย หรือ ระหว่างคอยรับการรักษาซี่อื่น ๆ ในช่องปากซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนไปเป็นฟันปลอมแบบถาวรต่อไปในอนาคต
ฟันปลอมชนิดนี้สามารถที่จะพิจารณาเติมฟันได้หากมีการสูญเสียฟันเพิ่มเติมไปในอนาคต แต่ในทางตรงกันข้ามทัตนแพทย์จะแนะนำให้ใช้ฟันปลอมชนิดนี้ไม่เกิน 6 เดือน เนื่องด้วยลักษณะความทนทานของวัสดุเองเมื่อใช้ไปนาน ๆ จะมีการติดสีหรือติดกลิ่นในตัววัสดุที่มากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ฟันปลอมชนิดนี้ใช้ในการใส่ฟันทดแทนที่หายไปในช่องปากเป็นเฉพาะบางซี่ หรือบางตำแหน่งเช่นเดียวกันกับฟันปลอมถอดได้บางส่วน ฐานพลาสติก แต่ฟันปลอมชนิดนี้จะมีโครงโลหะที่เป็นส่วนช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับตัวชิ้นงาน และช่วยทำให้ตัวชิ้นงานมีความบางลงได้มากกว่าฟันปลอมชนิดฐานพลาสติก ความบางขอโครงโลหะจะช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นธรรมชาติมากขึ้น อีกทั้งลดโอกาสการกระตุ้นการสำลักอีกด้วย
ทั้งนี้ก่อนจะเริ่มทำฟันปลอมชนิดนี้ได้ ผู้ป่วยจะต้องมีสุขภาพฟัน และเหงือกโดยรอบบริเวณรอบข้างช่องว่างฟันที่หายไปที่ดีร่วมด้วย เนื่องด้วยฟันปลอมชนิดนี้หวังพึ่งพา อาศัยฟันซี่ข้างเคียงในการยึดติด หากเกิดความเสียหายของฟันหลักยึดฟันปลอมแบบถอดได้ มีเหตุจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษา ก็จะย่อมส่งผลต่อการใช้งานฟันปลอมแบบถอดได้ชนิดโครงโลหะทันที ฟันปลอมชนิดนี้ไม่สามารถที่จะซ่อมแซม หรือ ทำการเติมฟันได้ เนื่องจากตัวโครงโลหะถูกออกแบบมาให้พอดีกับช่องว่างที่หายไปในขณะทำฟันปลอมชนิดนี้
ฟันปลอมชนิดนี้ใช้ในการใส่ฟันทดแทนที่หายไปทั้งช่องปาก นั้นหมายความว่าผู้ป่วยอาจจะสูญเสียฟันที่ขากรรไกรบน หรือล่างไปทั้งหมดขากรรไกรใดขากรรไกรหนึ่งก็ได้ หรือจะไม่มีฟันช่องปากเหลือเลยทั้งบนและล่าง ก็สามารถที่จะใส่ฟันปลอมลักษณะนี้ได้ โดยฟันปลอมทั้งปากนั้นโดยปกติจะยึดอยู่ได้ด้วยแรงยึดติดจากพื้นผิวสัมผัสระหว่างฟันปลอม กับสันเหงือกว่างนั้นเอง การขยายฐานฟันปลอมที่กว้างจะช่วยทำให้ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวและแรงยึดติดในการยึดติดตัวชิ้นงานฟันปลอมนั้นเอง
ในทางตรงกันข้ามผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่คุ้นชิน ชิ้นงานที่ใหญ่คับปาก พูดแล้วกลัวหลุด ไม่กล้ายิ้ม หรือหัวเราะเหมือนตอนมีฟันธรรมชาติ แต่เมื่อผู้ป่วยได้ผ่านการปรับแต่งฟันปลอมให้มีความพอดีจากทันตแพทย์แล้ว จะเกิดความพอดี และใส่ได้สบายมากยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา
เรียบเรียงบทความโดย:
อ.ทพ.พีรพัฒน์ กวีวงศ์ประเสริฐ
สาราณียกร และกรรมการสมาคมทันตกรรมประดิษฐ์ไทย
ภาพประกอบบทความ โดย ทพญ.พิชญา สุวรรณวลัยกร และ ทพญ.ภัณฑิรา สุวรรณวลัยกร
11 มีนาคม 2564
ผู้ชม 2418 ครั้ง